ยินดีต้อนรับทุกท่านที่เข้ามาชมบล็อกของเรา !

เชิญชมประวัติความเป็นมาของกลุ่มตุงและศรีล้านนา จ. ลำปาง และเชิญชมผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของทางกลุ่ม

วันจันทร์ที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2551

ประวัติความเป็นมาของโคมตาสุขและตุงยายนาค

ความเป็นมาของโคมตาสุขและตุงยายนาค
“โคมศรีล้านนา” ที่เป็นที่รู้จักกันกว้างขวางในปัจจุบันเดิมทีนั้นคนลำปางรู้จักในชื่อของ “โคมตาสุข”เนื่องจาก คุณตาสุข ปินตาสี เป็นผู้นำแนวความคิดของโคมพม่าที่มีที่มาจากพระราชวังมัณฑะเลย์ ประเทศพม่ามาสร้างสรรค์ให้เป็น “โคมศรีล้านนา” ดังที่ปรากฏในปัจจุบัน โดยเหตุเกิดมาจากสมัยที่คุณตาสุขยังเล็กคุณพ่อของคุณตาไปซื้อโคมไฟพม่ามาให้ดูซึ่งเป็นที่ถูกอกถูกใจของคุณตามาก จึงนำมาแขวนประดับบ้าน ซึ่งแสงประทีปจากภายในโคมไฟจะส่องสวยงามสว่างไสวในตอนกลางคืน แต่เกิดอุบัติเหตุไฟไหม้หมด ทำให้เหลือแต่โครงไม้ ส่วนกรอบกระดาษนั้นไฟไหม้หมด คุณตาสุขจึงนำกระดาษลวดลายต่างๆ มาซ่อมแซมและประกอบใหม่ จนกลายเป็นสินค้าที่สร้างรายได้แก่คุณตาจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต
เดิมรูปแบบของตัวโคมเป็นทรงโคมไฟแปดเหลี่ยมสองชั้นซึ่งเป็นรูปแบบเดิมของ “โคมไฟล้านนา”ต่อมาทางจังหวัดได้ขอให้คุณตาสุขปรับปรุงรูปแบบของโคมไฟล้านนาให้มีความโดดเด่นและแตกต่างจากโคมไฟล้านนาอื่นๆ ของจังหวัดต่างๆ ในเขตภาคเหนือตอนบน คุณตาสุขจึงดัดแปลงโคมลอยล้านนาโบราณที่มีเค้าโครงเพียงสองชั้นให้เป็นสามชั้นจึงเป็นที่มาของ “โคมศรีล้านนา” ของดีคู่จังหวัดลำปางในทุกวันนี้
คุณตาสุขได้เริ่มเผยแพร่ความรู้ด้านการทำโคมศรีล้านนาและตุงในราวๆ40ปีก่อน โดยเริ่มจากการให้ผู้ที่สนใจทางด้านการทำโคมศรีล้านนามาสอบถามความรู้ และได้พัฒนามาเป็นการเผยแพร่ความรู้อย่างเป็นระบบโดยให้หน่วยงานภาครัฐและเอกชนต่างๆ สามารถเข้ามาดูงานได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายซึ่งสอดคล้องกับแนวทางของจังหวัดในการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมของจังหวัดลำปางไม่ให้สูญหายไปตามกาลเวลาจนกระทั่งถึงแก่กรรมเมื่อปีพ.ศ 2549 นอกจากคุณตาสุขที่เป็นแรงบันดาลใจแล้วยังมีคุณยาย นาค ปินตาสี ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องการทำตุงไชยมงคล ซึ่งเป็นตุงที่ใช้ในงานบุญและงานรื่นเริงต่างๆ โดยที่คุณยายนาคเริ่มทำตุงตั้งแต่อายุ 16 ปีและมีปณิธานเฉกเช่นเดียวกับคุณตาสุขโดยยังผลิตและสาธิตการทำตุงรูปแบบต่างๆ โดยที่ส่วนใหญ่คุณยายนาคจะเน้นในการผลิตและการทำตุงไชยมงคลลวดลายต่างๆ เช่น ลายสีไขว้ (เป็นลายที่นำด้ายสองสีมาทำการไขว้กันในแต่ละช่องของตุง) ลวดลายดาวเรียง (เป็นการเรียงกรอบตุงสีเหลือบบนผืนผ้าของตุง ตามแนวทแยงมุมจากมุมกลางซ้ายลงมาล่างขวา) ลายสามสี (เป็นการใช้ได้สามสีไขว้กันเพื่อเกิดลวดลายในแต่ละกรอบของตุง) และลายดาวล้อมรุ้ง (เป็นลายที่สองแถวแรกและสองแถวหลังของผืนตุงจะมีการเล่น 2 สี และสองแถวกลางของตุงจะใช้สีที่เด่นที่สุดเพียงสีเดียว) ซึ่งลวดลายต่างๆ ที่กล่าวมานั้นเป็นผลงานการออกแบบของคุณยายนาคทั้งหมด ซึ่งคุณยายยังผลิตและให้ผู้ที่สนใจเข้ามาดูงานและศึกษาถึงการทำตุงที่กลุ่มตุงและโคมศรีล้านนา ณ.ที่ตั้งเดิม คือ บ้านเลขที่ 494 หมู่ 2 บ้านวังหม้อ ถนนลำปาง - แจ้ห่ม ตำบลต้นธงชัย อำเภอเมือง
จังหวัดลำปาง เป็นประจำทุกวัน จนกระทั่งปัจจุบันนี้

ไม่มีความคิดเห็น: